การนอนหลับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและสุขภาพที่ดี ผู้ใหญ่ควรนอนหลับให้ได้วันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
แต่สำหรับเด็ก ๆ ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้มากกว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กประถมต้น (อายุ 6-8 ขวบ) ควรนอน 11 ชั่วโมง เด็กประถมปลาย (อายุ 9-11 ขวบ) ควรนอน 10 ชั่วโมง เด็กมัธยมต้น (อายุ 12- 14 ปี) ควรนอน 9.25 ชั่วโมง เด็กมัธยมปลาย รวมทั้ง ปวช. (อายุ 15-17 ปี) ควรนอน 8.5 ชั่วโมง
การนอนหลับให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายของเด็ก ๆ เติบโตสูงขึ้น เพราะในเวลาที่เด็ก ๆ นอนหลับสนิท ต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนชื่อ growth hormone ออกมา ถ้าเด็กนอนไม่พอ growth hormone จะถูกหลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ตัวเตี้ย ไม่สูงเท่าที่ควร
นอกจากนี้การนอนไม่พอยังส่งผลให้การเรียนตกต่ำ เนื่องจากความง่วงนอนทำให้การรับรู้ ความเข้าใจ สมาธิ การเรียนรู้สิ่งใหม่ การแก้ปัญหา และความจำลดน้อยลง
การนอนไม่พอยังทำให้เด็ก ๆ มีอารมณ์รุนแรง มีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด ภูมิต้านทานต่ำ และเจ็บป่วยง่าย
ในวารสาร Archives of Internal Medicine ฉบับ วันที่ 18 ก.ย. 2549 ได้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาเปรียบเทียบจำนวนชั่วโมงการนอนหลับของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจาก 24 ประเทศในยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย พบว่า นักศึกษาไทยนอนน้อยติดลำดับที่ 21
และจากการศึกษาของทุนง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดี ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้ทำการศึกษาเด็กนักเรียนจาก 3 โรงเรียนในกรุงเทพฯ ลพบุรี ราชบุรี จำนวน 2 พันกว่าคน ตั้งแต่ประถม 1 ถึงมัธยม 3 พบว่า จำนวนชั่วโมงนอนหลับในวันเรียนหนังสือเฉลี่ยแล้วน้อยกว่ามาตรฐาน 1-1.5 ชั่วโมงต่อคืน ส่วนในวันหยุดน้อยกว่ามาตรฐาน 0.5-1 ชั่วโมงต่อคืน มีจำนวนชั่วโมงอดนอนสะสมต่อสัปดาห์อยู่ระหว่าง 6-9 ชั่วโมง
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประ ธานกรรมการ ทุนง่วงอย่าขับฯ กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่ผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการนอนหลับและหาวิธีแก้ไข ซึ่งการแก้ไขทำได้ไม่ยาก เริ่มที่ให้ความรู้ ให้เด็กไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนอนให้เพียงพอ การนอนหลับมีความสำคัญเท่ากับอาหารและการออกกำลังกาย การนอนหลับไม่ใช่กิจกรรมสุดท้าย หลังจากทำกิจกรรมอื่นเสร็จแล้วถึงจะเข้านอน แต่เมื่อถึงเวลานอน
เด็กจะต้องให้ความสำคัญของการนอนเหนือกิจกรรมอื่น ๆ”
ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กรู้จักแบ่งเวลาให้เป็น จัดลำดับความสำคัญว่าควรทำอะไรก่อนหลัง รีบทำการบ้านให้เสร็จตั้งแต่หัวค่ำ เมื่อใกล้ถึงเวลานอน เด็ก ๆ ไม่ควรเล่น ควรผ่อนคลาย ทำใจให้สงบ ไม่กังวล เคร่งเครียด คิดแก้ปัญหาต่าง ๆ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับ
เมื่อถึงเวลานอนต้องหยุดกิจกรรมอย่างอื่นทุกอย่าง รวมทั้ง หยุดคุยโทรศัพท์มือถือ หยุดเล่นเกมออนไลน์ ใช้อินเทอร์เน็ต หยุดดูโทรทัศน์ และเด็ก ๆ ควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดเรียนหรือวันหยุด
นอกจากจะรณรงค์ให้เด็ก ๆ เห็นถึงความสำคัญของการนอนหลับให้เพียงพอแล้ว ทุนง่วงอย่าขับฯ ยังได้รณรงค์ให้โรงเรียนจัดสถานที่ให้เด็กได้งีบหลับช่วงหลังอาหารกลางวัน 10-15 นาทีด้วย เพราะการงีบหลับจะทำให้สมองเด็กสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เรียนรู้ได้ดีและฉลาดขึ้น
มีการศึกษาพบว่าการงีบหลับเพียงระยะเวลาสั้น ๆ จะทำให้เด็กฉลาดขึ้น
ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการรณรงค์ให้เด็กญี่ปุ่นงีบหลับเวลากลางวัน เพื่อความได้เปรียบทางสติปัญญามากว่า 3 ปีแล้ว และในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้บรรจุวิชาการนอนหลับในชั่วโมงการเรียนการสอนของเด็กในระดับมัธยมตอนปลายมา 2 ปีแล้ว
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะหันมาให้ความสนใจกับเรื่องของการนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อที่เด็กไทยจะได้มีระดับสติปัญญาและความสูงได้มาตรฐานทัดเทียมกับเด็กในนานาประเทศ ???.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น